ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ที่ HR ควรรู้

ต้องจัดทำขึ้นเมื่อใด

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 108 ระบุให้นายจ้างที่มีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป  จัดให้มีข้อบังคับการทำงาน

มีจุดประสงค์จัดทำเพื่ออะไร

เพื่อเป็นการกำหนดนโยบาย สิทธิ หน้าที่ แนวปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง 

มีหลักเกณฑ์อย่างไร

  • ต้องเป็นภาษาไทย
  • ต้องประกาศใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่นายจ้างมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
  • ต้องจัดเก็บสำเนาข้อบังคับไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้างตลอดเวลา
  • ต้องเผยแพร่และปิดประกาศข้อบังคับการทำงานโดยเปิดเผย ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง  เพื่อให้ลูกจ้างได้รับทราบและดูได้โดยสะดวก
  • หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต้องประกาศภายใน 7 วันนับแต่วันที่ประกาศใช้ข้อบังคับฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • ต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานอย่างน้อยให้ครบ 8 ข้อตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต้องมีอะไรบ้าง ตามกฎหมายกำหนดให้มีรายละเอียด 8 รายการดังนี้

  1. วันทำงาน เวลาทำงานปกติ  และเวลาพัก
  2. วันหยุดและหลักเกณฑ์การหยุด
  3. หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด
  4. วันและสถานที่จ่ายค่าจ้าง  ค่าล่วงเวลา  ค่าทำงานในวันหยุด  และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
  5. วันลาและหลักเกณฑ์การลา
  6. วินัยและโทษทางวินัย
  7. การร้องทุกข์
  8. การเลิกจ้าง  ค่าชดเชย  และค่าชดเชยพิเศษ

ข้อควรพิจารณา

  • เขียนรายละเอียดให้เพียงพอที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติทุกฝ่ายเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง
  • นายจ้างอาจเขียนข้อกำหนดต่างๆให้สอดคล้องและเหมาะสมกับประเภทของกิจการนายจ้าง
  • นอกเหนือจาก 8 ข้อที่กฎหมายกำหนด นายจ้างอาจกำหนดนโยบาย ระเบียบ แนวปฏิบัติเรื่องอื่นๆ ไว้ในข้อบังคับด้วยก็ได้ เพื่อเป็นผลดีต่อการบริหารงานบุคคล

ข้อควรระวัง

  • กรณีที่บริษัทมีสวัสดิการนอกเหนือจากกฎหมายกำหนดและเป็นสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้  ไม่ควรเขียนใส่ไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเพราะจะเกิดความยุ่งยากในการแก้ไขในภายหลัง หรือหากจะใส่ไว้ในข้อบังคับการทำงาน ควรระบุวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุด
  • เมื่อร่างข้อบังคับการทำงานเสร็จแล้วควรนำข้อบังคับเข้าที่ประชุมกับฝ่ายต่างๆ เช่น ตัวแทนสหภาพแรงงาน, คณะกรรมการสวัสดิการ หรือ บุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังความคิดเห็น สร้างความเข้าใจและพึงพอใจกันทั้งสองฝ่าย ในอนาคตหากมีแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็อาจจะทำได้ง่ายขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *