การนำส่งเงินสมทบ

อีกหน้าที่หนึ่งของนายจ้างที่มีต่อประกันสังคม  คือการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนซึ่งประกอบไปด้วย 2 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม และ กองทุนเงินทดแทน ซึ่งแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกันดังนี้

กองทุนประกันสังคม

คือกองทุนที่ดูแลลูกจ้างหรือผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ที่ไม่เกิดจากการทำงานให้นายจ้าง  นอกจากนี้ยังคุ้มครองถึงกรณี คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงานอีกด้วย โดยเงินสมทบกองทุนนี้จะมาจากลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ที่มีหน้าที่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือนที่มีการจ่ายค่าจ้าง

อัตราการนำส่งเงินสมทบ

กฏหมายกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบโดยหักจากเงินค่าจ้างของลูกจ้างในอัตราร้อยละ 5  และนายจ้างจะต้องสมทบในอัตราเท่ากันคือร้อยละ 5  และรัฐบาลร่วมจ่ายสมทบด้วยในอัตราร้อยละ 2.75

แล้วจึงนำส่งสำนักงานประกันสังคมพร้อมยื่นแบบแสดงรายการส่งเงินสมทบ (สปส.1-10) ในกรณีที่เดือนนั้นมีลูกจ้างป่วยไม่มีค่าจ้างให้ใส่ค่าจ้างเป็น 0 และเงินสมทบเป็น 0

  • วิธีการคำนวณ

จะคำนวณเงินสมทบจากค่าจ้างลูกจ้าง ในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท

นำส่งเมื่อไหร่

กฎหมายกำหนดให้นายจ้างนำส่งเงินสมทบให้แก่สำนักงานประกันสังคมทุกเดือน โดยจะต้องนำส่งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ เช่น เงินสมทบงวดค่าจ้างเดือนตุลาคม 2562 นายจ้างต้องนำส่งภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562   

  • เอกสารที่นำส่งและวิธีการชำระเงิน
  •  ยื่นแบบสปส. 1-10
  • สามารถชำระเงินได้ที่สำนักงานประกันสังคม, ที่ทำการไปรษณีย์, หักผ่านธนาคาร (ยกเว้นธ.ออมสินและธกส.) และเคาน์เตอร์เซอร์วิส, ธ.กรุงศรีฯ, ธ.กรุงไทย, ธ.ธนชาต

ข้อควรระวัง:  หากส่งเงินสมทบเกินวันที่กำหนด ต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน หรือหากนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กองทุนเงินทดแทน

คือ กองทุนที่ดูแลลูกจ้างเมื่อประสบอันตราย เจ็บป่วย เสียชีวิต หรือสูญหาย อันเนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้าง โดยกองทุนเงินทดแทนนี้จะจัดเก็บจากนายจ้างฝ่ายเดียว

อัตราการนำส่งเงินสมทบ

อัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน   ที่จัดเก็บจากนายจ้างแต่ละรายจะแตกต่างกันตามลักษณะความเสี่ยงภัยในการทำงานของแต่ละกิจการ   ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 131 ประเภทกิจการ  อัตราเงินสมทบระหว่าง 0.2% – 1.0%   ของค่าจ้าง   เช่น  กิจการขายอาหารจ่ายเงินสมทบ 0.2%  ของค่าจ้าง  ถ้าเป็นกิจการก่อสร้างจ่ายเงินสมทบ 1.0%  ของค่าจ้าง  เป็นต้น

และเมื่อนายจ้างจ่ายเงินสมทบครบ 4 ปี  ปฏิทินแล้ว ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป   อัตราเงินสมทบอาจจะลด หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมขึ้นอยู่กับค่าของอัตราส่วนการสูญเสียซึ่งสำนักงานฯ ได้เก็บสถิติข้อมูลไว้

  • วิธีการคำนวณ

เงินสมทบจะคำนวณจากค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างทุกคนรวมทั้งปี X อัตราเงินสมทบของกิจการนั้น หากลูกจ้างคนใดได้รับค่าจ้างเกินกว่า 240,000 บาทต่อปี ให้นำมาคำนวณเพียง 240,000 บาท

  • นำส่งเมื่อไหร่

เงินสมทบกองทุนเงินทดแทนจัดเก็บปีละ 2 ครั้ง  ดังนี้

ครั้งที่  1  จัดเก็บภายใน 31 มกราคมของทุกปี  เรียกว่า  “เงินสมทบประจำปี”   เว้นแต่ปีแรกที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างต้องจ่ายภายใน 30 วันนับแต่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป

ครั้งที่  2  จัดเก็บภายใน 31 มีนาคมของทุกปี  เรียกว่า  “เงินสมทบจากการรายงานค่าจ้าง”  เนื่องจากเงินสมทบที่จัดเก็บเมื่อต้นปี  คำนวณมาจากค่าจ้างที่ได้ประมาณการไว้ล่วงหน้า x อัตราเงินสมทบ และในระหว่างปีอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่ม  หรือลดค่าจ้าง  ดังนั้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีนายจ้างจึงมีหน้าที่แจ้งจำนวนค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้างทุกคนที่จ่ายทั้งปีที่แล้ว ไปให้สำนักงานประกันสังคมทราบอีกครั้ง  ตามแบบใบแสดงเงินสมทบประจำปี (กท 20)  เพื่อจะนำไปเปรียบเทียบกับค่าจ้างที่ได้ประมาณการไว้เมื่อต้นปี หากค่าจ้างที่ประมาณไว้เดิมน้อยกว่าก็จะเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มภายในเดือนมีนาคม เว้นแต่ค่าจ้างที่ประมาณการสูงกว่าค่าจ้างจริง  นายจ้างก็จะได้รับเงินสมทบส่วนที่จ่ายเกินคืนไป                 

  • เอกสารที่นำส่ง

สำนักงานประกันสังคม จะแจ้งยอดเงินสมทบที่นายจ้างต้องชำระให้ทราบล่วงหน้าพร้อมทั้งกำหนดวันชำระเงินตามแบบต่าง ๆ   ดังนี้

ใบประเมินเงินสมทบประจำปี (กท.26 ก) สำหรับเรียกเก็บเงินสมทบต้นปี

ใบแจ้งเงินสมทบจากการรายงานค่าจ้าง  (กท.25 ค) สำหรับเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มจากการรายงานค่าจ้าง

ใบแจ้งเงินสมทบจากการตรวจบัญชี (กท.25 ก) สำหรับเรียกเก็บเงินสมทบภายหลังทราบผลการตรวจบัญชีประจำปี

  • วิธีการชำระเงิน

–  เงินสดหรือเช็ค ที่สำนักงานประกันสังคม

 –  ธนาณัติ

–  โอนเงินผ่านธนาคารกรุงไทย (มหาชน) จำกัด

ข้อควรระวัง:  หากนายจ้างจ่ายเงินสมทบเกินเวลาที่กำหนด จะต้องจ่ายค่าปรับ 3% ต่อเดือนของเงินสมทบที่ต้องจ่าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *