สิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทน

HR มือใหม่ทราบมั้ยคะว่า สิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนมีอะไรบ้างและเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน HR ต้องปฎิบัติอย่างไร วันนี้ผู้เขียนสรุปมาเพื่อให้ HR มีความเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง…

กองทุนเงินทดแทน คุ้มครองเมื่อใด และกรณีใดบ้าง

  • คุ้มครองลูกจ้างทันทีนับตั้งแต่วันเข้าทำงานให้นายจ้าง
  • คุ้มกรณีลูกจ้างประสบอันตราย, เจ็บป่วย ตาย หรือสูญหายจากการทำงานให้นายจ้าง

สิทธิประโยชน์เงินทดแทนที่ลูกจ้างได้รับมีอะไรบ้าง

  1.  ค่ารักษาพยาบาล 
  2. ได้รับสิทธิค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง  หรือหากไม่เพียงพอสามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้อีกสูงสุดไม่เกิน 2,000,000 บาท ขึ้นอยู่อาการบาดเจ็บความรุนแรงของการประสบอันตราย  ทั้งนี้การจ่ายค่ารักษาพยาบาลจะต้องผ่านการพิจารณาและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการแพทย์และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน
  3.  ค่าทดแทน มี 4   กรณี

2.1  กรณีไม่สามารถทำงานได้  หากลูกจ้างมีการหยุดพักรักษาตั้งแต่ 1 วัน ได้รับสิทธิค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน แต่รวมกันไม่เกิน 1 ปี และต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ระบุให้หยุดพักรักษาตัวและลูกจ้างมีการหยุดพักตามใบรับรองแพทย์จริง

2.2  กรณีสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย  ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน  เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี การประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายลูกจ้างจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาและอวัยวะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย  ทั้งนี้หากลูกจ้างมีการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย  เมื่อสิ้นสุดการรักษาสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการประเมินการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายได้ที่สำนักงานประกันสังคมตามที่นายจ้างมีภูมิลำเนาหรือที่ลูกจ้างทำงานอยู่

2.3  กรณีทุพพลภาพ  เมื่อลูกจ้างได้รับการประเมินเป็นผู้ทุพพลภาพ จะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนไปตลอดชีวิต การประเมินการสูญเสียอวัยวะ  ลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษา และอวัยวะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย ซึ่งกรณีทุพพลภาพเนื่องจากการทำงาน จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด  ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดการรักษาสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการประเมินการเป็นผู้ทุพพลภาพได้ที่สำนักงานประกันสังคมตามที่นายจ้างมีภูมิลำเนาหรือที่ลูกจ้างทำงานอยู่

2.4  กรณีถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน  กรณีลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลา 10 ปี จ่ายให้กับผู้มีสิทธิตามกฎหมาย

ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ได้แก่

                1.  มารดา

                2.  บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย

                3.  สามีหรือภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย

                4.  บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

5.  บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่ยังศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอด 

     ระยะเวลาที่ศึกษาอยู่

6.  บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อน 

     ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย

 7.  บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือวันที่เกิดเหตุสูญหาย มีสิทธิรับ             เงินทดแทนนับแต่วันคลอด

 8.  หากไม่มีบุคคลดังกล่าวข้างต้นให้ผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายเป็นผู้มี             สิทธิแต่ผู้อยู่ในอุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตายหรือสูญหาย 

หมายเหตุ  :  ผู้มีสิทธิทุกราย จะได้รับส่วนแบ่งเท่าๆ กัน

กรณีสูญหาย  หมายความว่า การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตาย เพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างนั้น รวมตลอดถึงการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทาง โดยพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุ

  • ค่าฟื้นฟูสมรรภพในการทำงาน 

กรณีฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตราย สำหรับลูกจ้าจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ได้รับตามอัตรา ดังนี้

  • ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ โดยให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตรที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายในกระบวนการเวชศาสตร์ฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางกายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัด ไม่เกินวันละ 100 บาท แต่รวมแล้ว ไม่เกิน 24,000 บาท
  • ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและการผ่าตัด เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มได้อีกไม่เกิน 110,000 บาท โดยคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นชอบ
  • ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่รวมแล้วไม่เกิน 160,000 บาท

โดยลูกจ้างจะได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน จะต้องเข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น 

  • ค่าทำศพ

ให้นายจ้างจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจำนวน 40,000 บาท

วิธีการส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล

เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานนายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลในทันทีในสถานพยาบาลใดก็ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  1. กรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ตกลงไว้ ให้นายจ้างส่งลูกจ้างเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาล ซึ่งกองทุนเงินทดแทนทำความตกลงไว้โดยใช้แบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44)  ในกรณีนี้ นายจ้างและลูกจ้างไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล  สถานพยาบาลนั้นๆ จะเรียกเก็บจากกองทุนเงินทดแทนโดยตรง แต่นายจ้างต้องนำส่ง กท.16 และสำเนา กท.44 ก่อน  (สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลของกองทุนเงินทดแทนได้ที่ www.sso.go.th)
  2. กรณีเข้ารักษา ณ สถานพยาบาลทั่วไป  นายจ้างจะส่งลูกจ้างเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลใดๆ ก็ได้  ทั้งของเอกชนและของรัฐบาล  แต่ต้องเป็นสถานพยาบาลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายให้ทำการรักษาและลงชื่อในความเห็นของแพทย์  โดยนายจ้างหรือลูกจ้างจะต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงินมาเป็นหลักฐานขอเบิกเงินจากกองทุนเงินทดแทนได้

วิธีการแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยทำอย่างไร

เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายนายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจต้องแจ้งแบบ กท.16  ซึ่งสามารถส่ง ณ สำนักงานประกันสังคมหรือส่งทางไปรษณีย์ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบการประสบอันตรายหรือลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประสบอันตรายหรือหากการเจ็บป่วยเกิดหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างให้ยื่นคำร้องภายใน 2 ปี  นับแต่วันที่ทราบการป่วย

เอกสารประกอบการยื่นคำขอ

  • แบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือสูญหาย (กท.16)
  • แบบส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาล (กท.44)  กรณีนายจ้างส่งตัวเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน ต้นฉบับพร้อมสำเนา
  • ใบรับรองแพทย์ (กท.16/1) หรือใบรับรองแพทย์ของสถานพยาบาล
  • การประสบอันตรายที่ชัดเจนต้องขอหลักฐานเพิ่ม เช่น หลักฐานการลงเวลาทำงาน บันทึกประจำวันตำรวจ แผนที่เกิดเหตุ เป็นต้น
  • ใบเสร็จรับเงิน (กรณีนายจ้าง หรือลูกจ้างสำรองจ่ายไปก่อน)
  • กรณีเสียชีวิตหรือสูญหายเนื่องจากการทำงาน ต้องมีหลักฐานแสดงการเสียชีวิต ใบชันสูตรศพ ใบมรณะบัตรของลูกจ้าง พร้อมหลักฐานของผู้มีสิทธิ

หมายเหตุการยื่นแบบการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย (กท.16) เพียงครั้งเดียว สามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ทุกกรณี 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *